การพัฒนาต้นแบบในการประเมินประสิทธิภาพของระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน กรณีศึกษา: จังหวัดนครราชสีมา
Keywords:
การแพทย์ฉุกเฉิน, การวิจัยดำเนินงาน, ต้นแบบการประเมินระบบการแพทย์ฉุกเฉินAbstract
ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นก่อนถึงโรงพยาบาล โดยทั่วไปแล้วประสิทธิภาพการให้บริการจะถูกประเมินจากระยะเวลาการตอบสนองการเข้าถึงจุดเกิดเหตุ อย่างไรก็ตามการประเมินความรวดเร็วในการเข้าถึงตัวผู้ป่วยเพียงประเด็นเดียวไม่สามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพในภาพรวม เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นที่กระทบต่อประสิทธิภาพโดยรวมของการบริการแพทย์ฉุกเฉินได้ เช่น ความครอบคลุมพื้นที่เหตุฉุกเฉิน ความพร้อมของจุดบริการ และการควบคุมความเสี่ยงในกระบวนการ ดังนั้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบการประเมินประสิทธิภาพของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในองค์รวม โดยการประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน 5 ด้าน คือ (1) ความครอบคลุมเหตุฉุกเฉิน (2) ความรวดเร็วในการเข้าถึง (3) ความพร้อมของจุดบริการ (4) ความปลอดภัยในการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่ และ (5) ความสามารถในการจัดการความเสี่ยงภายในระบบ โดยใช้เครื่องมือด้านการวิจัยดำเนินงานและวิทยาการบริหารจัดการ (OR/MS) สำหรับใช้ประเมินขีดความสามารถอย่างเหมาะสม โดยใช้อำเภอเมืองนครราชสีมาเป็นพื้นที่ทำการศึกษา ซึ่งมีสถานีบริการทั้งหมด 13 แห่ง คือ หน่วยฉุกเฉินระดับการรักษาสูงสุด 7 แห่ง และหน่วยฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน 6 แห่ง ผลการประเมินระบบการแพทย์ฉุกเฉินนครราชสีมาพบว่า มีประสิทธิภาพการดำเนินงานคือ (1) ความครอบคลุมเหตุฉุกเฉินร้อยละ 82.80 (2) ความรวดเร็วในการเข้าถึงร้อยละ 90.09 (3) ความพร้อมของจุดให้บริการที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุดร้อยละ 78.29 (4) ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขณะให้บริการร้อยละ 77.1 และ (5) การจัดการความเสี่ยงภายในระบบร้อยละ 85.83 สรุปได้ว่าตำแหน่งของสถานีฉุกเฉินในปัจจุบันมีขีดความสามารถในด้านความครบพร้อมและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่จำกัด ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาคือการเสริมสถานีฉุกเฉินที่มีตำแหน่งที่เหมาะสมเข้ามาในระบบ ทั้งนี้ ต้นแบบการประเมินประสิทธิภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินแบบองค์รวมนี้สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายในการยกระดับคุณภาพการให้บริการต่อไป
Downloads
Published
Issue
Section
License
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (JPR2R) ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล