ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพร้อมในการจัดทำ มคอ.3 ตามหลัก OBE ของผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Authors

  • สายพิณ ทองพัด สังกัดงานการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • จันศนีย์ ฉิมงาม สังกัดงานการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Author

Keywords:

มคอ.3, OBE, ความพร้อม, การรับรู้, ความรู้, ความเข้าใจ, ทัศนคติ, ทักษะ

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพร้อมและปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมในการจัดทำ รายละเอียดของรายวิชา (มคอ.3) ตามหลัก outcome-based education (OBE) ของผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการ สังกัดภาควิชาคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ พฤกษศาสตร์ และฟิสิกส์ จำนวน 125 คน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามและแบบทดสอบ ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน รวมทั้งสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ ค่าที (T-test) ค่าความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และการเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธี least significant difference (LSD) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการวิจัย พบว่า ผู้ปฏิบัติงานสายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมในการจัดทำ มคอ.3 ตามหลัก OBE ด้านทักษะในระดับมาก ด้านทัศนคติ และด้านความรู้ความเข้าใจ ในระดับปานกลาง ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้ที่มี เพศ ช่วงอายุ หรือภาระงานที่รับผิดชอบแตกต่างกัน จะมีความพร้อมในการจัดทำ มคอ.3 ตามหลัก OBE ด้านทักษะ ด้านทัศนคติ และด้านความรู้ความเข้าใจไม่แตกต่างกัน ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีอายุงาน ตำแหน่งทางวิชาการ หรือปัจจัยการรับรู้บางปัจจัยแตกต่างกัน จะมีความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นอกจากนี้ ผู้ที่สังกัดภาควิชาแตกต่างกัน ยังมีความพร้อมด้านทักษะและด้านความรู้ความเข้าใจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ด้วย 

Downloads

Published

2024-04-01