การศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของวัสดุรองนอนผสม 2 ชนิด (ขี้กบไม้สนและซังข้าวโพด) สำหรับการเปลี่ยนกรงทุก 7 วัน ในโคโลนีหนูตะเภา Mlac:DH ของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

Authors

  • พรรัตนา ช่อมณี งานผลิตสัตว์ทดลอง ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • อภิสิทธิ์ เหล่าสันติสุข งานผลิตสัตว์ทดลอง ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • มินตรา พลอยสีเขียว งานบริการวิชาการ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • วัลลภ ลิขิตสุนทรวงศ์ งานการสัตวแพทย์ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • พนิดา บุตรรัตน์ งานการสัตวแพทย์ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • ธนพร พิณพาทย์ งานผลิตสัตว์ทดลอง ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล Author

Keywords:

วัสดุรองนอน, อัตราส่วน, การเปลี่ยนวัสดุรองนอน, หนูตะเภาสายพันธุ์ Mlac:DH

Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราส่วนการใช้วัสดุรองนอน 2 ชนิด ได้แก่ ขี้กบไม้สนต่อซังข้าวโพด ผสมกันในอัตราส่วนต่าง ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ขี้กบไม้สนมากกว่าซังข้าวโพด (2:1) กลุ่มที่ 2 ขี้กบไม้สนเท่ากับซังข้าวโพด (1:1) และกลุ่มที่ 3 ขี้กบไม้สนน้อยกว่าซังข้าวโพด (1:2) โดยดำเนินการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หนูตะเภา Mlac:DH บนวัสดุรองนอนผสมในแต่ละกลุ่มเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 7 วัน เพื่อจำลองระยะเวลาการเปลี่ยนกรงที่ 7 วัน มีการเก็บข้อมูลการบริโภคอาหาร การบริโภคน้ำ และน้ำหนักของเสียทุกวัน มีการเก็บข้อมูลภาพวัสดุรองนอนและความสะอาดใต้ท้องตัวสัตว์ในวันที่ 4 และวันที่ 7 วัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซแอมโมเนีย (NH3) ภายในกรงสัตว์ทุกวันตั้งแต่วันที่ 4  จนถึงวันที่ 7 พบว่าที่ระยะเวลาการเลี้ยง 7 วัน สภาพวัสดุรองนอนของทุกกลุ่มมีของเสียสะสมเต็มที่ไม่แตกต่างกัน สภาพความสะอาดที่ตัวสัตว์ซึ่งพิจารณาจากรอยเปื้อนมูลบริเวณใต้ท้องหรือลักษณะของขนที่จับตัวเป็นก้อน พบว่าที่ระยะเวลา 4 วัน และ 7 วันนั้น สัตว์ทั้ง 3 กลุ่ม (ทั้งตัวผู้และตัวเมีย) ไม่มีการเปื้อนมูลที่ขนใต้ท้องและไม่มีขนจับเป็นก้อน กล่าวคือทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน การบริโภคอาหารและปริมาณของเสียที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันของแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกันทางสถิติ ระดับ CO2 และ NH3 ของแต่ละกลุ่มไม่เกินเกณฑ์และไม่แตกต่างทางสถิติ การบริโภคน้ำของหนูทุกกลุ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำปกติของหนูตะเภารุ่น และการบริโภคน้ำของกลุ่มที่ 3 มีความแตกต่างกับกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ทั้งนี้การบริโภคน้ำที่มากกว่าปกตินี้อาจมาจากพฤติกรรมการเล่นน้ำของหนูตะเภาเอง สำหรับสภาพพื้นหน้าของวัสดุรองนอนในกรงเลี้ยง ที่ระยะเวลาการเลี้ยง 7 วัน กลุ่มที่ 1 ซึ่งมีอัตราส่วนขี้กบไม้สนมากกว่าซังข้าวโพด มีการสะสมความชื้นแฉะมากกว่ากลุ่มที่ 2 และ 3 เพราะมีตัวดูดซับน้อย ส่วนกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีอัตราส่วนซังข้าวโพดสูงที่สุดเป็นกลุ่มที่สามารถดูดซับความชื้นได้มากที่สุด แต่จากการพิจารณาพื้นผิวของวัสดุรองนอนหลังการเลี้ยง 7 วัน พบว่ามีซังข้าวโพดถูกดันขึ้นไปผสมบนผิวหน้ามากกว่ากลุ่มที่ 1 และ 2 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัตว์บาดเจ็บที่ฝ่าเท้าได้ ซึ่งถือเป็นผลเสียต่อสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ ดังนั้นจึงสรุปว่าวัสดุรองนอนผสมในกลุ่มที่ 2 ขี้กบไม้สนเท่ากับซังข้าวโพด สามารถใช้ดำเนินการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หนูตะเภา Mlac:DH ที่ระยะเวลาการเปลี่ยนกรง 7 วันได้ดีกว่าอีก 2 กลุ่ม อย่างไรก็ตาม การศึกษาในอนาคตยังมีความจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบในระยะยาวจากการเลี้ยงแบบการเปลี่ยนกรงทุก 7 วันต่อไป

Downloads

Published

2024-03-01