รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมทักษะการคิดแบบองค์รวม: กรณีศึกษากล้วยไข่กำแพงเพชรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยใช้สวนกล้วยเป็นฐานการเรียนรู้

Authors

  • ทัศวัฒน์ ซอแก้ว นิสิตหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต สาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร Author
  • ณัฐเชษฐ์ พูลเจริญ สาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร Author

Keywords:

รูปแบบการจัดการเรียนรู้, ภูมิศาสตร์, การคิดแบบองค์รวม, กล้วยไข่กำแพงเพชร, สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการจัดการเรียนรู้รายวิชาภูมิศาสตร์ 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมทักษะการคิดแบบองค์รวม: กรณีศึกษากล้วยไข่กำแพงเพชรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยใช้สวนกล้วยเป็นฐานการเรียนรู้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการแบบอุปนัย กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียน กลุ่มครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา สาระภูมิศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไข่ ได้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกกล้วยไข่ และ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ รวมทั้งสิ้น 64 คน โดยมีขอบเขตพื้นที่การศึกษา คือ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในอำเภอคลองลาน และสวนกล้วยไข่กำแพงเพชรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในอำเภอคลองลาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสร้างข้อสรุปการวิเคราะห์แบบอุปนัยจากผู้ให้ข้อมูลในแต่ละกลุ่มและใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ และค่าร้อยละ ที่ได้จากการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม ตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าด้านวิธีการเก็บข้อมูล ร่วมกับการตรวจสอบสามเส้าโดยการทบทวนข้อมูล  ผลการวิจัย พบว่า สภาพปัจจุบันและความต้องการของการจัดการเรียนรู้รายวิชาภูมิศาสตร์ พบว่า อันดับที่ 1 คือ กิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติ ร้อยละ 100 อันดับที่ 2 ความพร้อมของอุปกรณ์และสื่อการสอน การใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และความเชี่ยวชาญของครูผู้สอน ร้อยละ 69.23 อันดับที่ 3 ด้านความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนและกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิด ร้อยละ 61.54 อันดับที่ 4 ด้านเวลา ร้อยละ 53.85  อันดับที่ 5 ด้านความภูมิใจในท้องถิ่น ร้อยละ 46.15 และอันดับที่ 6 กิจกรรมที่สนุกสนาน ร้อยละ 38.46 โดยนำข้อมูลมาจัดเป็นกลุ่ม และสร้างเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน 2) การจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง 3) การจัดการเรียนรู้ที่เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิด 4) การจัดการเรียนรู้ที่เน้นความสุข สนุกสนาน และได้กำหนดเป็นหลักการจัดการเรียนรู้ขึ้น 3 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความภาคภูมิใจในวิถีเกษตรท้องถิ่น 2) การพัฒนาทักษะการคิดโดยใช้กระบวนการทางภูมิศาสตร์ และ 3) การยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้วิจัยจึงสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะการคิดแบบองค์รวม: กรณีศึกษากล้วยไข่กำแพงเพชรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยใช้สวนกล้วยไข่เป็นฐานการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรม พิชิต GI กำแพงเพชร ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ มองถิ่นให้รู้รอบ บอกปัจจัย คลี่คลายสงสัย และเข้าใจองค์รวม จากผลการศึกษา ได้สร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ คือ KHLONGLAN Model สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้รายวิชาภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมทักษะการคิดแบบองค์รวม ทั้งนี้ ทำให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดแบบองค์รวม ในระดับ ดีมาก ผู้เรียนเกิดการคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ ได้แก่ สายพันธ์กล้วยไข่ สภาพพื้นที่ อากาศ ความหนาแน่น ปุ๋ย แร่ธาตุ ความชุ่มชื้น  การดูแล และคน โดยใช้แหล่งเรียนรู้สวนกล้วยไข่กำแพงเพชรในท้องถิ่น

Downloads

Published

2024-03-04