ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการนำนโยบายคณะคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Faculty) สู่การปฏิบัติของบุคลากรและนักศึกษาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Keywords:
การรับรู้, ทัศนคติ, พฤติกรรม, คณะคาร์บอนต่ำAbstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ทัศนคติต่อพฤติกรรม การคล้อยตามบุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับพฤติกรรม ความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรม และปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการนำนโยบายคณะคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Faculty) ไปสู่การปฏิบัติ โดยเก็บข้อมูล จากบุคลากร จำนวน 90 คน และนักศึกษาจำนวน 229 คนของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Independent Samples Test: T-Test One-way ANOVA และการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Analysis) ด้วยโปรแกรม SPSS version 18 ผลการศึกษา พบว่า บุคลากรมีระดับทัศนคติต่อพฤติกรรม ความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรม และพฤติกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด มีระดับการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม และการคล้อยตามบุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก สำหรับนักศึกษา พบว่า มีระดับทัศนคติต่อพฤติกรรมมากที่สุด มีระดับความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรม พฤติกรรม การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก และมีระดับการคล้อยตามบุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับพฤติกรรมในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรมของบุคลากรและนักศึกษาได้แก่ ทัศคติที่มีต่อพฤติกรรม (β = 0.63, p-value = 0.00 และ β = 0.41, p-value = 0.00 ตามลำดับ) การรับรู้ความสามารถในการควบคุม (β = 0.28, p-value = 0.00 และ β = 0.31, p-value = 0.00 ตามลำดับ) การคล้อยตามบุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคลากร (β = 0.09, p-value = 0.02) มีผลต่อความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรม ในขณะที่การคล้อยตามบุคคลอ้างอิงเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักศึกษา (β = 0.04, p-value = 0.21) ไม่มีผลต่อความตั้งใจในการแสดงพฤติกรรม สำหรับความตั้งใจการแสดงพฤติกรรมของบุคลากร (β = 0.78, p-value = 0.00) และ นักศึกษา (β = 0.63, p-value = 0.00) มีผลต่อพฤติกรรมการนำนโยบายคณะคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Faculty) สู่การปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญ
Downloads
Published
Issue
Section
License
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (JPR2R) ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล