ผลการศึกษาเบื้องต้นของผลกระทบในการเปลี่ยนกรงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อสุขภาพพ่อแม่พันธุ์หนูตะเภา กรณีศึกษาศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย
Keywords:
หนูตะเภา, Mlac:DH, การเปลี่ยนกรง, ค่าโลหิตวิทยา, ค่าเคมีคลินิก, ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติAbstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบจากความถี่ในการเปลี่ยนกรงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (กลุ่มทดสอบ) เปรียบเทียบกับการเปลี่ยนกรงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (กลุ่มควบคุม) ต่อสุขภาพของพ่อแม่พันธุ์หนูตะเภา Mlac:DH และจำนวนลูกสัตว์หย่านมที่ผลิตได้ตลอดระยะเวลาการผลิต 15 เดือน จำนวนลูกสัตว์หย่านมตลอดระยะเวลาการผลิต รอยโรคที่มองเห็นด้วยตาเปล่าจากการผ่าซาก ภาพรวมทางจุลพยาธิวิทยา ค่าเลือดและค่าเคมีคลินิกตามระยะเวลาการเลี้ยงที่ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 12 เดือน และ 15 เดือนถูกบันทึก ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 2 กลุ่มไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านจำนวนลูกสัตว์ตายก่อนหย่านมและจำนวนลูกสัตว์หย่านมที่ผลิตได้ตลอดระยะเวลาการผลิต (P-value มีค่า 0.683 และ 0.929) การผ่าซากและรอยโรคหรือความผิดปกติที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า พบรอยโรคฝ่าเท้าอักเสบในระดับเล็กน้อยที่ฝ่าเท้าหลังทุกตัวทั้งในกลุ่มทดสอบและกลุ่มควบคุมที่ระยะเวลาการเลี้ยง 9 เดือนขึ้นไป พบถุงน้ำที่รังไข่ทั้งในกลุ่มทดสอบและกลุ่มควบคุมที่ระยะเวลาการเลี้ยงตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ภาพรวมผลทางจุลพยาธิวิทยา พบปอดอักเสบแบบไพโอแกรนูโลม่าเล็กน้อยในกลุ่มทดสอบ จำนวน 1 ตัว ที่ระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน และ 2 ตัวที่ระยะเวลาการเลี้ยง 9 เดือน พบการอักเสบและเนื้อตายเล็กน้อยที่ตับในกลุ่มควบคุม จำนวน 1 ตัว ที่ระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน ซึ่งความผิดปกติที่ปอดและตับนี้สันนิษฐานว่าเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะรายตัว ส่วนค่าเลือดและค่าเคมีคลินิกของกลุ่มทดสอบและกลุ่มควบคุมในทุกระยะเวลาการเลี้ยงมีค่าสอดคล้องกับผลที่เคยมีการรายงานไว้ในต่างประเทศ และในแต่ละพารามิเตอร์กลุ่มทดสอบและกลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น การศึกษาต่อไปในอนาคตจึงจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลจากการทดสอบกับทั้งโคโลนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของค่าเลือดและค่าเคมีคลินิก ซึ่งมีปัจจัยเรื่องเพศและอายุสัตว์เกี่ยวข้อง
Downloads
Published
Issue
Section
License
บทความทุกบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (JPR2R) ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล