การพัฒนาทิศทางงานวิจัยในองค์การโดยใช้เทคนิค ZOPP และ Force Field Analysis

Authors

  • สวัสดิรักษ์ ใสงาม งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Author
  • ศุภลักษณ์ วัฒนาเฉลิมยศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Author

Keywords:

ZOPP, Force field analysis, ทิศทางงานวิจัย

Abstract

การกำหนดทิศทางการดำเนินงานวิจัยขององค์การ มีส่วนสำคัญในการทำให้องค์การมีเป้าหมายในการดำเนินงานวิจัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติและความต้องการของพื้นที่  การนำกระบวนการระดมความคิด Ziel Orientierte Projekt Planung (ZOPP/ซ็อพ) และเทคนิคการวิเคราะห์แรงผลัก แรงต้าน (Force Field Analysis: FFA) มาใช้ในการดำเนินการหาทิศทางวิจัยในองค์การครั้งนี้  เป็นการนำกิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาและหาข้อสรุปร่วมกันจากความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยผู้ร่วมกระบวนการทุกคนสามารถแสดงความคิดได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกันจากการเขียนความคิดเห็นลงในกระดาษและนำสู่การแปลผลตามค่าคะแนนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ยังสามารถมองเห็นระดับความรุนแรงโดยการจัดลำดับค่าน้ำหนักความสำคัญ และความเป็นไปได้ของแต่ละประเด็นทำให้สามารถบริหารจัดการแผนการทำงานในระยะสั้น กลาง หรือยาวได้อย่างครอบคลุม

             ผลการใช้กระบวนการดังกล่าวในการพัฒนาทิศทางการวิจัยในองค์การพบว่า ได้ประเด็นปัญหาของพื้นที่ในชุมชนรอบองค์การที่มีความสำคัญและมีความเป็นไปได้ในการแก้ไข 3 ประเด็นหลัก และยังพบว่าสอดคล้องกับกลุ่มเรื่องงานวิจัยที่องค์การต้องการมุ่งเน้นในจำนวน 12 กลุ่มเรื่อง นอกจากนี้ยังได้จัดอันดับความสำคัญสำหรับการวางแผนงานจากข้อสรุปปัจจัยสนับสนุนในการทำงานวิจัย 8 ปัจจัย และปัจจัยอุปสรรค 9 ปัจจัย ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักทรัพยาการบริหาร 4M (บุคลากรวิจัย, ทุนวิจัย, วัสดุอุปกรณ์วิจัยและการจัดการ)  มีความพึงพอใจในภาพรวมของการจัดกิจกรรมพัฒนาทิศทางการวิจัยอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย  4.13) เทคนิคการระดมความคิดเห็นมีความเหมาะสมในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย  4.20) สามารถนำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ    ซึ่งทิศทางงานวิจัยที่ได้นั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.87)  และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.54)   ในขณะที่ความเป็นไปได้ที่องค์การสามารถส่งเสริมปัจจัยสนับสนุน และลดปัจจัยอุปสรรค อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย  3.46 และ 3.29) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่าการจัดกิจกรรมพัฒนาเป้าหมายงานวิจัยมีประโยชน์ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย  3.96)    จึงสามารถ สรุปได้ว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาทิศทางการวิจัยในครั้งนี้ เห็นด้วยและพึงพอใจกับการพัฒนาทิศทางการวิจัย   ผลการวิจัยดังกล่าวได้นำไปพัฒนาการปฏิบัติงานโดยพัฒนาระบบเครือข่ายงานวิจัย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการวิจัย รวมทั้งเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารและทุนวิจัย นอกจากการนำทิศทางการวิจัยที่ได้นำเสนอกับผู้บริหารเพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานวิจัยแล้ว  ยังนำผลลัพธ์ด้านปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยอุปสรรคไปสรุปเป็นแนวทางสนับสนุน 6 แนวทางเพื่อให้ผู้บริหารใช้ประกอบนโยบายการส่งเสริมการดำเนินงานวิจัยด้วย

Downloads

Published

2024-04-10